logo
กรมธนารักษ์
สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ฉะเชิงเทรา
THE TREASURY
DEPARTMENT
MENU
  • A
  • A
  • A

เกี่ยวกับจังหวัด


  • ตราประจำจังหวัดเป็นรูปพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหารหลังใหม่
  • ต้นไม้ประจำจังหวัดนนทรีป่า
  • ดอกไม้ประจำจังหวัดนนทรี

    คำขวัญจังหวัดฉะเชิงเทรา

    แม่น้ำบางปะกงแหล่งชีวิต พระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธร พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย
    อ่างฤาไนป่าสมบูรณ์

    ประวัติความเป็นมาของจังหวัดแต่ละยุคสมัย
             
                       จังหวัดฉะเชิงเทราหรือที่นิยมเรียกกันว่า "แปดริ้ว" เคยเป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในอำนาจการปกครองของขอมมาก่อนในสมัยอิทธิพลของอาณาจักรลพบุรี (ขอม) เมืองฉะเชิงเทราตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกง เป็นไปได้ว่าชาวเมืองสมัยโบราณอาจจะเรียกชื่อแม่น้ำบางปะกงว่า คลองลึกหรือคลองใหญ่ ตามลักษณะที่มองเห็นแต่ด้วยอิทธิพลเขมรจึงได้เรียกชื่อแม่น้ำ เป็นภาษาเขมรว่า "สตึงเตรง หรือ ฉทรึงเทรา" ซึ่งแปลว่า คลองลึก นั่นเอง ครั้นเรียกกันไปนาน ๆ เสียงเลยเพี้ยนกลายเป็น "ฉะเชิงเทรา" แต่ก็มีความเห็นอื่นที่แตกต่างออกไปว่าชื่อ "ฉะเชิงเทรา" น่าจะเพี้ยนมาจาก "แสงเชรา" หรือ "แซงเซา" หรือ "แสงเซา" อันเป็นชื่อเมืองที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช เสด็จไปตีได้ตามที่พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้ มากกว่า 
                     ส่วนความเป็นมาของชื่อ "แปดริ้ว" ก็มีเล่าขานกันมาหลายกระแส บ้างก็ว่าที่ได้ชื่อว่าเมืองแปดริ้ว ก็เพราะขนาดอันใหญ่โตของปลาช่อนที่ชุกชุมเมื่อนำมาแล่ จะต้องแล่ถึงแปดริ้ว หรือไม่ก็ว่ามาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง "พระรถเมรี" เล่าว่ายักษ์ฆ่านางสิบสองแล้วชำแหละศพออกเป็นชิ้น ๆ รวมแปดริ้ว ทิ้งลอยไปตามลำน้ำท่าลาดสำหรับข้อสันนิษฐานการตั้งเมืองฉะเชิงเทรา ปรากฏครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในฐานะหัวเมืองชั้นในหรือเมืองจัตวา  ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) แต่สำหรับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปรากฏชัดเจนในสมัยพระนเรศวรมหาราชที่ใช้เมืองฉะเชิงเทราเป็นที่รวบรวมไพร่พล  เมื่อ พ.ศ.๒๑๓๖ ด้วยชัยภูมิของเมืองที่เหมาะแก่การทำสงครามกองโจร ทำให้ฉะเชิงเทราเป็นเมืองหน้าด่านที่ใช้ป้องกันศัตรู ปกป้องเมืองหลวง จวบจนสู่การปกครองระบบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.๒๔๗๕ และในปี พ.ศ.๒๔๗๖ มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค คำว่าเมืองเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ครองเมือง หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งเป็นปีที่มีการตั้งภาคครั้งสุดท้ายของไทย ฉะเชิงเทราได้รับเลือกเป็นสถานที่ภาคมีเขตความรับผิดชอบ ๘ จังหวัด  ซึ่งนับเป็นบทบาทที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การปกครองของจังหวัดฉะเชิงเทรา

    "ฉะเชิงเทรา” กับ "แปดริ้ว”
    "ฉะเชิงเทรา” กับ "แปดริ้ว” คือสองชื่อที่เรียกขานเมืองนี้ "ฉะเชิงเทรา” เป็นชื่อที่ใช้ในทางราชการ ส่วน "แปดริ้ว” เป็นภาษาท้องถิ่นที่ชาวบ้านใช้เรียกกันมาช้านาน ซึ่งทั้งสองชื่อต่างก็มีเรื่องเล่าขานถึงความเป็นมาอย่างหลากหลายและมีสีสัน
    ชื่อ "ฉะเชิงเทรา” มีต้นเค้านึ่งมาจากหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์ภาคปกิณกะ ภาค 1 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีความพาดพิงถึงเมืองฉะเชิงเทราว่า "...ชื่อบ้านเมืองเหล่านี้เป็นชื่อไทยบ้าง ชื่อเขมรบ้าง เป็นสองชื่อทั้งไทยทั้งเขมรบ้าง อย่างเมืองฉะเชิงเทราเป็นชื่อเขมร แปดริ้วเป็นชื่อไทย...” นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีบางท่านจึงมีความเห็นว่า "ฉะเชิงเทรา” น่าจะเพี้ยนมาจากคำเขมรว่า "สตึงเตรง” หรือ "ฉ่ทรึงเทรา” ซึ่งแปลว่า "คลองลึก” ความเห็นนี้คงอาศัยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ด้วย เพราะเมืองฉะเชิงเทราตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกง เมื่อครั้งที่ขอมยังมีอำนาจปกครองแผ่นดินไทยอยู่นั้น เมืองนี้เป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในอำนาจการปกครองขิงขอมมาก่อน เป็นไปได้ว่าชาวเมืองในสมัยโบราณอาจจะเรียกแม่น้ำบางปะกงว่า "คลองลึก” หรือคลองใหญ่ ตามลักษณะที่มองเห็น และด้วยอิทธิพลเขมรจึงไดเรียกชื่อแม่น้ำเป็นภาษาเขมรว่า "สตรึงเตรง” หรือ "ฉ่ทรึงเทรา” ครั้งเรียกกันไปนานๆ เสียงก็เพี้ยนกลายเป็น "ฉะเชิงเทรา” เมืองที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำก็พลอยได้ชื่อว่า "ฉะเชิงเทรา” ไปด้วย
    อย่างไรก็ตาม คนจำนวนมากมักมีความเห็นต่างอกไปว่า ชื่อ "ฉะเชิงเทรา” น่าจะเพี้ยนจาก "แสงเชรา” หรือ "แซงเซา” หรือ "แสงเซา” อันเป็นชื่อเมืองที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จไปตีได้ ตามที่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้มากกว่า เพราะการออกเสียงใกล้เคียงกันมาก ยิ่งเมื่อประกอบความคิดที่ว่า เมืองตั้งขึ้นในตอนต้นกรุงศรีอยุธยา อันเป็นเวลาที่ชื่อเสียงเรียงนามต่างๆ น่าจะเป็นคำไทยหมดแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน อย่างนนทบุรี นครไชยศรีและสาครบุรี ซึ่งล้วนแต่มีเชื้อสายไทยอิทธิพลอินเดีย ยิ่งทำให้น่าเชื่อว่าเมืองนี้ไม่ใช่คำเขมร หากแต่เป็นคำไทยที่เพี้ยนมาขากชื่อเมืองในพงศาวดารนี่เอง


    CHACHOENGSAO AND PAD-REW
              ส่วนความเป็นมาของชื่อ "แปดริ้ว” ก็มีตำนานเล่าขานกันมาหลายกระแสไม่แพ้กัน บ้างก็ว่าเมืองนี้แต่ไหนแต่ไรมาเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ในลำน้ำอุดมสมบูรณ์ด้วนสัตว์น้ำนานาชนิด โดยเฉพาะปลาช่อนซึ่งเป็นปลาน้ำจืดรสดีนั้นมีชุกชุมและขนาดใหญ่กว่าในท้องถิ่นอื่นๆ จนเมื่อนำมาแล่เนื้อทำปลาตากแห้ง จะแล่เพียงสี่ริ้วหรือห้าริ้วตามปกติไม่ได้ ต้องแล่ออกถึง "แปดริ้ว” เมืองนี้จึงได้ชื่อว่า "แปดริ้ว” ตามขนาดใหญ่โตของปลาช่อนซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเมือง
                    นอกจากเรื่องปากท้องซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีอิทธิพลต่อความคิดของชาวบ้านอย่างมากแล้ว นิทานพื้นบ้านซึ่งมีเนื้อเรื่องค่อนข้างผาดโผนก็มีส่วนสร้างความเชื่อถือในเรื่องชื่อเมืองได้เหมือนกัน คนในท้องถิ่นพนมสารคามเล่าถึงเรื่อง "พระรถ-เมรี” ซึ่งเป็นนิทานเรื่องหนึ่งในปัญญาสชาดกว่า ยักษ์ได้ฆ่านางสิบสองแล้วลากศพไปยังท่าน้ำ ในบริเวณที่เป็นคลอง"ท่าลาด” แล้วชำแหละศพออกเป็นริ้วๆ รวมแปดริ้ว แล้วทิ้งลอยไปตามลำน้ำท่าลาด ริ้วเนื้อริ้วหนังของนางสิบสองลอยมาออกยังแม่น้ำบางปะกง ไปจนถึงฉะเชิงเทรา เมืองนี้จึงได้ชื่อว่า "แปดริ้ว”
                    The origins of "Pad-rew” are as colourful as those of "Chachoengsao”. One source tells that the name is invented after "Pla Chon”, the snake-head fish familiar in the Bangpakong River, whose abundance breeds more numerous and more sizable fish than any other streams. Drying such a big one needs carving of 8 strips, instead of typical 4 or 5. The city thus owes the name "pad-rew” to this 8-strip carving.
                    A more legendary source of Pad-rew has religious influences. "Phararot-Mari”, an ancient thrilling tale from Panyasa Chataka tells about the demon, the antagonist, who murdered the 12 concubines, cut them into 8 pieces and set the corpses adrift at Khlong "Tha Lad”. The flesh along the Bangpakong River to Chachoengsao, where the name "Pad-rew” is adopted.
    พื้นที่และแผ่นดิน
                    ฉะเชิงเทรามีเนื้อที่กว่า 5,000 ตารางกิโลเมตรหรือกว่า 3 ล้านไร่ กว้างใหญ่กว่าเมืองอื่นใดในแผ่นดินภาคตะวันออกของไทยนอกจากจันทบุรี อาณาเขตของจังหวัดแผ่ไปจนจรดนครนายกและปราจีนยุรีทางทิศเหนือ ชลบุรีและจันทบุรีทางทิศใต้ ปราจีนบุรีทางทิศตะวันออก และกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และปทุมธานีทางทิศตะวันตก
                    พื้นที่ทั่วไปของฉะเชิงเทราเป็นที่ราบลุ่ม เว้นแต่เพียงบางส่วนที่เป็นที่ราบลูกฟูก ที่ดอนและภูเขาเตี้ยๆ พื้นที่ราบนั้นสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ส่วนบริเวณเทือกเขาปกคลุมด้วยป่าไม้อันอุดมไปด้วยไม้มีค่าและสัตว์ป่าหายาก ทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร แม่น้ำบางปะกง เส้นเลือดใหญ่ของฉะเชิงเทราก็ถือกำเนิดจากเทือกเขาเหล่านี้ แล้วไหลลงสู่เบื้องล่างเพื่อหล่อเลี้ยงให้ความสมบูรณ์กับผืนดินก่อนลงสู่ทะเลที่อ่าวไทย
                    สายน้ำบางปะกงอันคดเคี้ยวแบ่งพื้นดินออกเป็นสองส่วน ฟากหนึ่งคือความเป็นเมืองอันทันสมัย อาคาร บ้านเรือนและโรงงานกำลังผุดขึ้นตามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ส่วนอีกฟากหนึ่งเขียวชอุ่มไปด้วยป่าและพื้นที่เกษตรอันดารดาษด้วยนากุ้ง สวนผลไม้และนาข้าวออกรวงสีทองอร่าม ตลอดสองฝั่งน้ำ ป่าจากอันเป็นพืชดั้งเดิมคู่ลำน้ำบางปะกงยังคงหนาทึบ ใบสีเขียวเข้มเอนลู่ไหวไปมาเสียดสีกันยามต้องสายลม
                    ฉะเชิงเทราเป็นเมืองใกล้ทะเล มีส่วนที่ติดกับชายฝั่งยาวถึง 12 กิโลเมตรที่อำเภอบางปะกง ตลอดแนวชายฝั่งคือป่าชายเลนที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ พื้นที่ติดทะเลทำให้เมืองนี้ได้รับอิทธิพลจากลมบกและลมทะเลอย่างเต็มที่ และด้วยลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ ฉะเชิงเทราจึงชุ่มชื้นด้วยฝนที่ตกต้องตามฤดูกาล อันนำพาพืชพรรณธัญญาหารให้ผลิดอกออกผลสะพรั่งตลอดปี
                   
    Land
                    Chachoengsao stretches beyond 5,000 square kilometers or 3 million rai, engrossing the second vastest area in the East next to Chanthaburi. It reaches over Nakhon Nayok and Prachinburi in the North, Chonburi and Chanthaburi in the South, Prachinburi in the East and Bangkok Metropolis, Samutprakarn and Prathumthani in the West.
                    Chachoengsao terrain is predominantly wet plains, with corrugated plains, highlands and low hills alternately recurring. The flat ground is bounteous for cultivation, and along the ridges are priceless forests where abide rare wild animals and founts of streams. The Bangpakong River, the vein of Chachoengsao, begins there, whirling through and enriching the soil before moving seaward into the Gulf of Thailand.
                    Chachoengsao is beautiful, with the glimmering stream meandering through and bisecting its ground. Given a bird ’s eye view, one has a charmingly distinctive panorama, of sprouting urbanized buildings and vast green domain of woodlands and plantations, adorned by islets of leafy orchards, golden rice fields and silver blocks of shrimp farms. On both banks of the river, "Chak” (atap palm) thickets swing in the breeze, their dark green leaves rubbing against one another.
                    Following the river, Chachoengsao yields to the sea at Amphoe Bangpakong, creating a coast of some 12 kilometers, embraced by rich mangrove forests. Abutted to the sea, the city is influenced by land and sea breezes, and moistened by northeast and southwest monsoons, which carry with them seasonal rainfall and fruitfulness.

    ฉะชิงเทราในอดีต
                    เมืองฉะเชิงเทราถือกำเนิดขึ้นเมื่อใด ไม่มีผู้ยืนยันได้แน่ชัด แต่จากที่ตั้งของเมือง นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงแห่งนี้ เมื่อหลายพันปีก่อน น่าจะเป็นแหล่งอารยะธรรมสำคัญแห่งหนึ่งเช่นเดียวกับที่ราบลุ่มแม่น้ำอื่นๆ ซึ่งเป็นแหล่งพักพิงอาศัยของผู้คนมาแต่โบราณ และเมื่อมีการขุดค้นพบโครงกระดูกและเครื่องประดับมีค่าอายุกว่า 5,000 ปี ณ แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในเขตการปกครองของเมืองฉะเชิงเทรามาก่อน จึงเกิดเป็นหลักฐานว่า ผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ในครั้งนั้น น่าจะเป็นมนุษย์โบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ทั้งหลายก็น่าจะตั้งรกรากอยู่ใกล้เคียงกันตามชายฝั่งทะเลแถบนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่า เจ้าของอารยะธรรมที่โคกพนมดีอาจจะเป็นบรรพชนของผู้สร้างอารยะธรรมยุคสำริดอันเลื่องชื่อที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานีก็ได้
                   
                    There is no definite assertion on Chachoengsao ’s birth. Only archaeological assumption are made that, thousands of years ago, Bangpakong Riverfront, like many other river basins worldwide, was a center of ancient civilization and habitat to pre-historic populace. 5,000-year-old skeletons and ornaments found at Khok Phanomdee, now a village in Amphoe Phanat Nikhom, Chonburi, and once a dominion under Chachoengsao ’s sovereignty, are the first testimony advocative to the notion. According to geographers, during 7,000-2,000 B.C. the coastline where pre-historic communities abode was much father inland. Thus, the assumption that Bangpakong people were forefathers of the renowned Ban Chiang men is sensible.
                   
                    เมื่อล่วงเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ แหล่งอารยะธรรมลุ่มแม่น้ำบางปะกงดูจะมีหลัดฐานชัดเจนขึ้น แต่บ้านเมืองในยุคต้นพุทธกาลนี้ก็ยังมิได้รวมเป็นลักษณะ "อาณาจักร” ที่มีราชธานี ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นศูนย์กลางการกครอง คงเป็นเพียงการรวมกลุ่มขึ้นเป็น "แคว้น” หรือ "นครรัฐ” เล็กๆ กระนั้น บทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว หากพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์ ชุมชนศูนย์กลางของอารยะธรรมกลุ่มแม่น้ำบางปะกงนั้น น่าจะเป็นทางออกสู่ทะเลซึ่งสามารถติดต่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมกับดินแดนโพ้นทะเล และในขณะเดียวกัน ก็สามารถนำพาสินค้าและวัฒนธรรมเหล่านั้นไปยังดินแดนภายในแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอยู่บริเวณที่ราบสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและที่ราบต่ำในกัมพูชา อันถือได้ว่าเป็นบ่อเกิดแห่งอารยะธรรมสมัยโบราณของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างสะดวก หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบได้ในบริเวณนั้น ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมหรือประติมากรรม ล้วนแสดงว่าชุมชนแห่งนี้มีอายุต่อเนื่องยืนยาวหลายพันปี และมีมนุษย์อาศัยสืบเนื่องมาไม่ขาดสายตั้งแต่ยุคบรรพกาล
                   
    Evidences on Bangpakong civilization became more prominent in the historical age. Early in the Buddhist Era, no kingdom with a capital city was yet born. The government was in form of small "regions” or "city states”. Nonetheless, its economic character began to take root. Geographically, the nucleus of Bangpakong civilization was simultaneously a trade outlet to overseas nations and gateway of goods to the mainland, including the Northeastern Plateau and Cambodian Great Plain, regarded as a bulb of the primeval civilization in Southeast Asia. Archaeological testimonies discovered there, paintings and sculptures alike, prove an incessant tide of human settlements throughout the time.

    อย่างไรก็ตาม ชื่อ "ฉะเชิงเทรา” ได้มาปรากฏอย่างเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ (พ.ศ. 1991-2031) ฉะเชิงเทราได้รับบทบาทสำคัญในการปกครอง ในฐานะหัวเมืองชั้นในหรือเมืองจัตวาที่อยู่ใกล้ราชธานีของประเทศ เช่นเดียวกับราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม นครไชยศรี นครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี สมุทรสาคร ชลบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก
                    ในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา บทบาทของ "เมือง” แห่งนี้ในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์สุขของพี่น้องชาวไทยเริ่มเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมครั้งแรก ด้วยเหตุที่ฉะเชิงเทราตั้งอยู่ใกล้ชายแดนเขมร แต่ไหนแต่ไรมา เขมรมักถือโอกาสซ้ำเติมไทยโดยยกทัพมากวาดต้อนผู้คนอยู่เนืองๆ ในเวลาที่ไทยเพลี่ยงพล้ำในการศึกกับพม่า ในปี พ.ศ. 2126 สมเด็จพระนเรศวนมหาราชจึงได้ทรงเกณฑ์ผู้คนนับหมื่น เสด็จกรีธาทัพไปตีเมืองละแวกเพื่อแก้แค้นเขมร การศึกครั้งนั้นเป็นครั้งใหญ่ที่มีการวางแผนรบอย่างรอบครอบ และฉะเชิงเทราได้กลายเป็นขุมกำลังและแหล่งเสบียงสำคัญที่มีหน้าที่แจกจ่ายเสบียงให้แก่กองทัพหลวง
                    ไม่ถึงสองร้อยปีให้หลัง ฉะเชิงเทราที่มีบทบาททางการเมืองอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2310 ซึ่งเป็นปีที่กรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายแก่พม่า พระยากำแพงเพชรผู้ซึ่งในภายหลังได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ชุมนุมพลพันเศษ เดินทัพจากกรุงศรีอยุธยาที่ล่มแล้ว หมายจะไปซ่องสุมกำลังที่เมืองจันทบุรีเพื่อกอบกู้ชาติไทย ทัพไทยถูกทหารพม่าติดตามมาดักที่บริเวณปากน้ำเจ้าโล้ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองฉะเชิงเทราในขณะนั้นจึงเกิดปะทะกันขึ้นแต่ด้วยชัยภูมิของเมืองอันเหมาะแก่การทำสงครามกองโจรพระยากำแพงเพชรจึงสามารถตีทัพพม่าแตกพ่ายไปและเดินทางต่อไปได้จนถึงที่หมาย และภายหลังจากที่ฝึกปรือทหารจนมีกำลังกล้าแข็งแล้วก็ได้นำกำลังโดยใช้ฉะเชิงเทราเป็นเส้นทางหนึ่งในการเดินทัพเข้าโจมตีพม่าที่เมืองธนบุรี แล้วขึ้นไปตีค่ายโพธิ์สามต้นซึ่งเป็นค่ายใหญ่ของพม่าที่อยุธยา ทำการกอบกู้เอกราชให้กับชาติไทยได้เป็นผลสำเร็จ

                    However, the name "Chachoengsao” was first officially traced in the Ayudhya Period, during the reign of King Boroma Trilolokanata (1991-2031 B.E.) Chachoengsao then adopted an administrative role of a principal town adjoining the capital city like Ratchaburi, Petchaburi, Kanchanaburi, Samutsongkhram, Nakhon Chaisri, Nakhon Sawan, Chainat, Suphanburi, samutsakorn, Chonburi Prachinburi and Nakhon Nayok.
                    It was during the reign of King Naresuan the Great that the integrity of Chachoengsao as a "city” sharing the fellow crountrymen ’s joy and grief took shape. Adjacent to the Cambodian border, Siam was invariably vulnerable to the Khmer’s offence and plunder, especially when being raided by the Burmese. To avenge his motherland, King Naresuan the Great, with a troop of over 10,000, made an attack on lawaek, Cambodia, in 2136 B.E.. It was a big, well-planned battle in which Chachoengsao was a military base, transferring supplies and provisions to the chief legion.
                    2310 B.E., the year of the Fall of Ayudhya, records another political stamina of Chachoengsao in Thai history. Fleeing the collapsing city, Phya Kampaengpetch, later crowned as King Taksin the Great, led his 1,000 followers to Chanthaburi with an aim to bolster the force and take a regain. At Chao Lo Rivermouth, his legion was tracked and attacked by the Burmese. Fortunately, with the locale auspicious for ambuscade, a counterattack was successful. Later, using Chachoengsao as a route Phya Kamphaengpetch took a  triumphant journey, raiding the Burmese at Thonburi Camp and their headquarter at Po Sarm Thon Camp, and made a victorious recapture.  
                    โฉมหน้าใหม่ของเมืองนี้เริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ โดนเฉพาะอย่างยิ่งในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นเวลาที่ฉะเชิงเทราได้รับบทบาทในฐานะ "เมืองหน้าด่าน” ที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อญวนเกิดฮึกเหิม หมายจะแย่งชิงอำนาจในการปกครองเขมรและสถาปนากษัตริย์เขมรจากไทย จนเกิดเหตุลุกลามกลายเป็นสงคราม "อานามสยามยุทธ” ระหว่างไทยกับญวนดำเนินไปได้ราว 1 ปี คือในปี พ.ศ. 2377 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ว่าการเมืองฉะเชิงเทราจากเดิมซึ่งตั้งอยู่ที่ปากน้ำเจ้าโล้ มาสร้างกำแพงเมืองใหม่ที่บ้านท่าไข่ แขวงเมืองฉะเชิงเทรา ชิดกับลำน้ำบางปะกง ซึ่งเป็นเสมือนกำแพงธรรมชาติที่ป้องกันศัตรูได้อย่างดี หมายให้ช่วยรักษาเมืองหลวงให้พ้นภัยจากข้าศึก กำแพงนี้นอกจากจะเป็นปราการในการปกป้องเมืองหลวงแล้ว ยังกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐแห่งใหม่และเป็นเครื่องแสดงอาณาเขตของเมืองด้วย ต่อมาเมื่อเกิดการสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ภายในกำแพง ความเป็น "เมือง” ที่มีอาณาเขตแน่นอนของฉะเชิงเทราจึงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

    A new countenance of Chachoengsao was perceptible early in Rattanakosin Period. During the reign of King Rama III, the city turned out to be a major "frontier town” of the nation. Striving over the governing authority of Cambodia, Siam and annam waged a 14-year war (2376-2390 B.E.). In 2377 B.E., the "administration center” of Chachoengsao was relocated from Chao Lo Rivermouth to Ban Tha Khai. There a city wall and fortress was built, abutting the Bangpakong River, as a fortification against the foes. As a garrison, the Wall shielded the capital city, and meanwhile, within it a new "municipality” was formed. It was the first time in Chachoengsao history that a precise boundary of the city was marked.
                   
    "สมัยใหม่” ของฉะเชิงเทราเริ่มต้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งราชวงศ์จักรี เมื่อไทยได้เปิดรับอารยะธรรมตะวันตกและเริ่มผันชีวิตความเป็นอยู่รับสถานการณ์โลก มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมนานัปการเพื่อให้นานาชาติเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่มีอารยะธรรมประเทศหนึ่ง เมื่อลุถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อิทธิพลของมหาอำนาจตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยิ่งกว้างขวาง กิจการภายในของไทยถูกคุกคามและแทรกแซง เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ไทยพบกับภัยทางการเมืองในรูปแบบใหม่ที่รุนแรง
    ด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยได้หันมาใช้นโยบาย "การเมือง” นำหน้า "การทหาร” และในขณะเดียวกันก็เร่งพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัย ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกด้าน นำการปกครองระบบ "เทศาภิบาล” มาใช้โดยรวบรวมเมืองต่างๆ ขึ้นเป็น "มณฑล” โดยยึดเอาลำน้ำเป็นหลัก ฉะเชิงเทราก็ได้ร่วมมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าครั้งยิ่งใหญ่นี้ด้วย โดยให้รวมเข้าเป็นหนึ่งในมณฑลปราจีนในปี พ.ศ. 2435 ร่วมกับเมืองปราจีนบุรี นครนายก พนมสารคาม มีลำน้ำบางปะกงเป็นลำน้ำสายหลักและมีการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบระเบียบเป็นครั้งแรก และเมื่อมีการขยายอาณาเขตโดยรวมเอาเมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี และเมืองบางละมุงเพิ่มเข้าไปด้วย ฉะเชิงเทราจึงกลายเป็นที่ว่าการมณฑลแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมา "มณฑลปราจีน” ในครั้งนั้นคือสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติในยุคของการล่าอาณานิคมอย่างแท้จริง ฉะเชิงเทราซึ่งเป็นที่ว่าการมณฑล ก็ได้กลายเป็นต้นฉบับของการปกครองที่ก้าวหน้าและมั่นคง ให้มณฑลอื่นๆ ได้ถือเป็นแบบอย่าง
    จวบจนย่างเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 เมื่อการปกครองระบบ "เทศาภิบาล” ยุติลงและเริ่มมีการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วย "ระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476”  อำนาจปกครองจึงเริ่มกระจายสู่ส่วนภูมิภาค คำว่า "เมือง” ได้เปลี่ยนเป็น "จังหวัด” มี "ผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นผู้ดูแลกิจการของเมือง มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศ และในปี พ.ศ. 2495 ซึ่งเป็นปีที่มีการตั้งภาคครั้งสุดท้ายของไทย ฉะเชิงเทราก็ได้รับเลือกเป็นสถานที่ตั้งภาค มีเขตความรับผิดชอบ 8 จังหวัด นับเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของเมืองนี้

    The "New Age” of Chachoengsao commenced in the reign of King Rama IV, when Thailand was enthralled by transcontinental civilization. Traditional lifestyles were modified to suit western culture, and societal and cultural changes were made to display Thai erudition. However, the reign of King Rama V was when the European influences in Southeast Asia were most violent and expansive. It was a new form of jeopardy Thailand had to encounter.
    Upon the King ’s contemplation, "political” policies replaced "military” ones. Ways of life were modernized and Quality of life improved. "Dhesabhibarn” governmental pattern was adopted. Using rivers as borderlines, "Muangs” (cities) were assembled into "Monthons” (regions). Chachoengsao also took part in this reform. Along with Prachinburi, Nakhon Nayok and Phanomsarakham, Chachoengsao was amassed into "Monthon Prachin” in 2435 B.E., having the Bangpakong  River as the landmark. Systematic city planning was first achieved here. "Monthon Prachin”, later expanded to cover also Phanat Nikhom, Chonburi and Bang Lamung, issymbolic of the nation ’s strive for independence in the age of colonialism, and Chachoengsao, becoming the Monthon ’s administration center, is the prototype of an advanced government pattern to be imitated by other regions.
    Constitutional Monarchy was embraced in Thailand in 2475 B.E.. Here ended the former "Dhesabhibarn”, and began the "Nation Administration Act: 2476 B.E.”, inciting distribution of government powers regionally. "Muang Chachoengsao” was change into "Changwat”, having a "Governor” for its chief, and election of representatives was induced in compliance with the Constitution. Chachoengsao took a quick political pace in 2495 B.E., which is the last year of region establishment, when chosen "center” of the Central Region, having an authoritative jurisdiction over 8 provinces.
              What the city is called and why is an isue of extensive interest and colourful vista. "Chachoengsao” and "pad-rew” are the two titles denoting the identity of this city. The former is an official name and the latter is a colloquial one long know and used in the locality. Adopting variety of interpretations, both swirl back to picturesque legendary founts.
                    An account of Chachoengsao ’s origins is discerned in King Rama Iv’s Collection of Literary Works, of which a part sataes "…Some of the city names are thai, other are Khmer; roots: Chachoengsao is Khmer; and Pad-Rew  is Thai…” An assumption is made accordingly that "Chachoengsao”  stems from Khmerian "Satrungtreng” or "Chatrungtrao” meaning "deep canel”. The notion is conceivably based on geographical grounds. The city, then under Khmerian predomination, is sited along Bangkapong River banks. In those days, calling a river "deep canel” or "big canel” is qoite understandable. And with political influence, the name of the river might follow Khmerian "Satungtreng” or "Chatrungtrao”, be later deviated in to "Chachoengsao”, and gave the title to the city.
                   However, a different opinion is much stronger. "Chachoengsao”, in view the most, is not a Khmer word but a Thai, deviating from "Strengshrao” or "Saengsao”, the name of the city vanquished by Somdej Phra Borommarachathirat, a King of the Ayudhya Epoch, as cited in the Royal Chronicle by historian Luang Prasert. The argument is based on the fact that the Ayudhya Period is the time when names and titles were all in Thai. Event the names of contemporary cities like Nonthaburi, Nakhon Chaisri and Sakhornburi are of Thai origin with Indian influence. The similarity in articulation between "Chachoengsao” and "Saengshrao” is also conspicuous.
     
     
    การเดินทางสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา
     

      รถยนต์

    จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางได้ ๓ เส้นทาง คือ
    ๑. จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ ( กรุงเทพฯ - มีนบุรี – ฉะเชิงเทรา ) ระยะทาง ๗๕ กิโลเมตร
    ๒. จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๔ ( ถนนสายบางนา – ตราด ) จากนั้นเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๑๔ ( บางปะกง – ฉะเชิงเทรา ) ระยะทาง ๙๐ กิโลเมตร
    ๓. จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข ๓ ( ผ่านสมุทรปราการ - บางปะกง ) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๑๔ ระยะทาง ๑๐๐ กิโลเมตร


     รถโดยสารปรับอากาศ

    มีรถโดยสารปรับอากาศออกจากจากสถานีขนส่งสายเหนือ (ถนนกำแพงเพชร ๒) ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที (ใช้เส้นทางมอร์เตอร์เวย์) ตั้งแต่เวลา ๐๕.๒๐-๑๘.๐๐ น. รถออกทุกครึ่งชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท ฉะเชิงเทรา ขนส่ง จำกัด (ถนนกำแพงเพชร ๒) โทร. ๐ ๒๙๓๖ ๔๐๔๑, ๐๘ ๙๗๔๘ ๑๓๔๙ หรือ สถานีขนส่งสายเหนือ (ถนนกำแพงเพชร ๒)โทร. ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๕๒–๖๖ ต่อ ๓๑๑, ๔๔๒

    นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางจากสถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) มีรถออกตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐-๒๑.๓๐ น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท ฉะเชิงเทรา ขนส่ง จำกัด (เอกมัย) โทร. ๐ ๒๗๑๒ ๑๐๑๘, ๐๘ ๙๗๔๙ ๑๓๓๖, สถานีขนส่งสายตะวันออก(เอกมัย)โทร. ๐ ๒๓๙๑ ๒๕๐๔, บริษัท ฉะเชิงเทรา ขนส่ง จำกัด (สำนักงานฉะเชิงเทรา) โทร. ๐๘ ๙๗๕๒ ๙๒๐๐ สถานีขนส่งจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร. ๐ ๓๘๕๑ ๔๔๘๒


      ทางรถไฟ

    มีบริการรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพง ไปฉะเชิงเทราทุกวัน วันละ ๑๑ ขบวน เที่ยวแรกเวลา ๐๕.๕๕ น. เที่ยวสุดท้ายเวลา ๑๘.๒๕ น. สอบถามรายละเอียด โทร. ๑๖๙๐, ๐ ๒๒๒๐ ๔๓๓๔ หรือ สถานีรถไฟฉะเชิงเทรา โทร. ๐ ๓๘๕๑ ๑๐๐๗ หรือ www.railway.co.th

    สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดฉะเชิงเทรา
    วัดโสธรวรารามวรวิหาร
    อยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมแม่น้ำบางปะกง เดิมชื่อว่า "วัดหงส์” สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นที่ประดิษฐาน "หลวงพ่อพุทธโสธร” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา ชาวเมืองเคารพนับถือ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ หายเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๑.๖๕ เมตร สูง ๑.๔๘ เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง ตามประวัติเล่าว่า เป็นพระพุทธรูปปาฏิหาริย์ลอยทวนน้ำมา และมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้สันนิษฐานว่าตั้งแต่ประมาณปีพ.ศ. ๒๓๑๓ สมัยต้นกรุงธนบุรี แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ปางสมาธิหน้าตักกว้างศอกเศษ รูปทรงสวยงามมาก แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงว่าจะมีผู้มาลักพาไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้จนมีลักษณะดังที่เห็นในปัจจุบัน ทุกวันนี้จะมีผู้คนต่างมานมัสการปิดทองหลวงพ่อโสธรกันเป็นจำนวนมาก
    พระอุโบสถ หลังใหม่ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยมีสำนักงานโยธาจังหวัดเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ลักษณะพระอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบรัตนโกสินทร์ประยุกต์ ประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จริง เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น.
    วิหารจำลอง ประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จำลอง สืบเนื่องจากทางคณะกรรมการวัดมีมติให้รื้อพระอุโบสถหลังเก่าซึ่งมีสภาพทรุดโทรมและคับแคบ และสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ โดยได้อัญเชิญพระพุทธโสธรองค์จำลองไปประดิษฐานไว้เพื่อเปิดให้ประชาชนได้มานมัสการตามปกติ เปิดให้นมัสการวันธรรมดาระหว่างเวลา ๐๗.๐๐- ๑๖.๓๐ น. วันเสาร์-อาทิตย์ระหว่างเวลา ๐๗.๐๐ - ๑๗.๐๐ น.

    ฝั่งตรงข้ามบริเวณวัดโสธรฯ มีร้านค้าจำหน่ายอาหารและสินค้าของที่ระลึกจากจังหวัดฉะเชิงเทรา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมวัดโสธรฯ โทร. ๐ ๓๘๕๑ ๑๐๔๘, ๐ ๓๘๕๑ ๑๖๖๖ นอกจากนั้นบริเวณท่าน้ำของวัดมีเรือบริการท่องเที่ยวลำน้ำบางปะกงไปขึ้นที่ตลาดบ้านใหม่ 

      อนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

    ตั้งอยู่ถนนศรีโสธรตัดใหม่ ตรงข้ามสัมมนาคารบางปะกงปาร์ค (มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์) รูปปั้นทำด้วยโลหะหล่อสูง ๒.๖๕ เมตร ประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๒ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นชาวแปดริ้ว เป็นนักปราชญ์ทางด้านภาษาไทย ตลอดชีวิตท่านได้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาตั้งแต่สมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ท่านแต่งโคลงสุภาษิต คำประกาศราชพิธี แบบเรียนภาษาไทยหลายเล่มเพื่อใช้ในการสอน เช่น มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังคโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์ นับเป็นแบบเรียนภาษาไทยที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับเยาวชนไทยในยุคนั้น

      ป้อมเมืองฉะเชิงเทรา

    อยู่ที่ถนนมรุพงษ์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ในปีพ.ศ. ๒๓๓๗ โดยมีกรมหลวงรณเรศเป็นแม่กองก่อสร้าง เพื่อป้องกันข้าศึกศัตรูมารุกราน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ใช้เป็นที่ตั้งมั่นกองทัพในการปราบกบฎอั้งยี่ ซึ่งเป็นพ่อค้าฝิ่นเถื่อนชาวจีนที่ก่อความวุ่นวายปล้นสะดมก์ชาวเมือง บริเวณหน้าป้อมจัดเป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ชมทิวทัศน์แม่น้ำบางปะกง มีปืนใหญ่ตั้งอยู่ตามกำแพงเมือง

      ศาลหลักเมือง

    เป็นศาลที่สร้างขึ้นใหม่ตั้งอยู่ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง เป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยหลังคาทรงจตุรมุข ส่วนบนเป็นยอดปรางค์ ภายในศาลมีเสาหลักเมือง ๒ เสา เสาหนึ่งเป็นเสาหลักเมืองเก่าสร้างเมื่อพ.ศ.๒๓๗๗ สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ อีกเสาหนึ่งเป็นเสาหลักเมืองปัจจุบันสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นอกจากนั้นยังมีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอยู่ในบริเวณเดียวกัน เปิดให้เข้าชมเวลา ๐๗.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.

      วัดเมือง (วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์)

    อยู่ตำบลหน้าเมือง เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๓๗๗ พร้อมๆ กับการสร้างป้อมและกำแพงเมือง โดยช่างฝีมือจากเมืองหลวง มีรูปแบบสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับพระปรางค์วัดพระศรีรัตนศาสดารามที่กรุงเทพมหานคร ต่างกันเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น วัดนี้เดิมเรียกว่า "วัดเมือง” ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสจังหวัดฉะเชิงเทราและได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์” แปลว่าวัดที่ลุงของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง

      เจ้าแม่กวนอิมลอยน้ำ

    ประดิษฐานอยู่ที่สมาคมสงเคราะห์การกุศลฉะเชิงเทรา (หน่วยกู้ภัยฉะเชิงเทรา) ถนนศุภกิจ ตำบลหน้าเมือง เป็นรูปยืนองค์ลอย สูงประมาณ ๑๑๙ เซนติเมตร น้ำหนัก ๔๐ กิโลกรัม ทำจากซีนีก้า ด้านในหล่อเต็มองค์ เนื้อองค์สีออกเหลือง ในมือของเจ้าแม่กวนอิมถือคัมภีร์ กล่าวได้ว่าเป็นปางถือคัมภีร์ โปรดสั่งสอนมนุษย์ทุกชนชั้นวรรณะ มีผู้พบลอยน้ำมาติดฝั่งบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐ ชาวแปดริ้วจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ ที่แห่งนี้ มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสเดินทางไปสักการะเป็นประจำ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. ๐๘ ๕๐๑๓ ๐๙๔๖

      วัดจีนประชาสโมสร (วัดเล่งฮกยี่)

    ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ ตำบลบ้านใหม่ ห่างจากศาลากลางจังหวัด ๑ กิโลเมตร เป็นวัดจีนในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ขยายมาจากวัดเล่งเน่ยยี่ในกรุงเทพฯ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๙ เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี เพื่อเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา ได้ทรงพระราชทานนามวัดว่า "วัดจีนประชาสโมสร” ส่วนชื่อภาษาจีนของวัด คำว่า "ฮก แปลว่า วาสนา โชคลาภ ความมั่งมีศรีสุข เล้ง หรือ เล่ง หมายถึง มังกร จึงมีผู้เรียกวัดนี้ ว่า มังกรวาสนา หรือ มังกรแห่งโชค” ตามหลักฮวงจุ้ยจีนกล่าวว่า วัดนี้ถือเป็นตำแหน่งท้องมังกร ส่วนตำแหน่งหัวมังกรอยู่ที่วัดเล่งเน่ยยี่ จังหวัดกรุงเทพฯ และหางมังกรนั้นอยู่ที่วัดเล่งฮัวยี่ จังหวัดจันทบุรี ทั้งสามตำแหน่งของมังกรพาดผ่านดินแดนของความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ เยาวราชดินแดนแห่งการค้าขาย เมืองแปดริ้วดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและจังหวัดจันทบุรี เมืองแห่งอัญมณีพลอย ภายในวัดจีนประชาสโมสรมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เช่น ท้าวจัตุโลกบาลขนาดใหญ่ ๔ องค์ทำจากกระดาษที่ประตูทางเข้า พระประธาน ๓ องค์และองค์ ๑๘ อรหันต์ ทำด้วยกระดาษนำมาจากเมืองจีน รูปหล่อเทพเจ้าแห่งโชคลาภ(ไฉ่เซ่งเอี้ย) ที่อยู่ด้านขวาขององค์พระประธานและยังมีเทพเจ้าอีกหลายองค์ตามคติจีน ระฆังใบใหญ่น้ำหนักกว่า ๑ ตัน ซึ่งเป็น ๑ ใน ๓ ใบในโลกที่รอบระฆังมีอักษรมหาปรัชญาปารมิตราสูตรถือกันว่าผู้ได้ใดตีระฆังก็เหมือนกับการสวดมนต์ซึ่งได้บุญกุศล นอกจากนี้ยังมีวิหารศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น วิหารบูรพาจารย์ วิหารเจ้าแม่กวนอิม วิหารตี่จั๊งอ๊วงและสระนทีสวรรค์ เป็นต้น

      วัดพยัคฆอินทาราม (วัดเจดีย์)

    ตั้งอยู่ตำบลบ้านใหม่ จากหลักฐานจารึกแผ่นเงินที่พบบริเวณรอยแตกตรงคอระฆังของเจดีย์องค์ใหญ่ภายในวัดทำให้ทราบว่าวัดนี้สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยนายเสือ หรือ พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรากับภรรยาชื่ออิน แรกเริ่มสร้างเจดีย์ก่อนเมื่อปีพ.ศ.๒๔๑๖ แล้วเสร็จในปีพ.ศ.๒๔๑๘ ส่วนวัดนั้นสร้างเสร็จภายหลังในราวปีพ.ศ.๒๔๒๔ นับว่าเป็นวัดเก่าแก่ ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ เจดีย์องค์ใหญ่ ๑ องค์ เจดีย์องค์เล็ก ๒ องค์ วิหารพระพุทธบาท อุโบสถและหอระฆัง


    อำเภอบ้านโพธิ์

      ตลาดคลองสวน ๑๐๐ ปี

    ตั้งอยู่ในเขตตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทราและเทศบาลตำบลคลองสวน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ในอดีตคลองสวนเป็นเส้นทางสำหรับเดินทางไปกรุงเทพมหานคร จากประตูน้ำท่าถั่ว (ฉะเชิงเทรา) แล่นผ่านตลาดคลองสวน ก่อนจะแล่นเข้าสู่ประตูน้ำ (วังสระปทุม) กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วิถีชีวิตของชาวคลองสวนทั้งชาวไทยจีน ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม ผสมผสานวัฒนธรรม การดำรงชีวิตประจำวันอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งจะเห็นได้จากสิ่งก่อสร้าง เช่น โรงเจ วัด สุเหร่า จะตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน และตลาดแห่งนี้จะเป็นแหล่งนัดพบของผู้คนมานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติอันได้แก่ ร้านกาแฟ สำหรับผู้ที่สนใจจะชมบรรยากาศของวิถีชีวิตร่วมสมัยย้อนยุคกว่า ๑๐๐ ปี ชิมอาหารอร่อยทั้งอาหารคาวที่มีสูตรเฉพาะ ขนมหวาน กาแฟสูตรโบราณดั้งเดิม ชมของเก่าและสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า สามารถแวะชมได้ที่ตลาดคลองสวน ๑๐๐ ปีแห่งนี้แห่งเดียว (วันเสาร์และอาทิตย์จะมีพ่อค้าแม่ค้านำสินค้ามาขายมากกว่าวันธรรมดา) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลตำบลคลองสวน โทร. ๐ ๒๗๓๙ ๓๓๒๙, ๐ ๒๗๓๙ ๓๒๕๓ บริเวณตลาดมีเรือล่องคลองใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ค่าโดยสาร ๕๐ บาท

    การเดินทาง จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ทางถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ ๓๕ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนทางไป Thai Country Club ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร จนเจอถนนหมายเลข ฉช ๓๐๐๑ เลี้ยวซ้ายไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ทางเข้าตลาดอยู่กิโลเมตรที่ ๙-๑๐ หรือ กิโลเมตรที่ ๑๐-๑๑

    หรือ จากแยกร่มเกล้าไปอีกประมาณ ๒๗ กิโลเมตร ไปตามทางหมายเลข ฉช ๓๐๐๑ ทางเข้าตลาดอยู่กิโลเมตรที่ ๙-๑๐ หรือ กิโลเมตรที่ ๑๐-๑๑ ใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที หรือ จากฉะเชิงเทราไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๑๔ (ฉะเชิงเทรา-บางปะกง) กิโลเมตรที่ ๑๔-๑๕ แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหมายเลข ฉช ๓๐๐๑ ทางเข้าตลาดอยู่กิโลเมตรที่ ๙-๑๐ หรือ กิโลเมตรที่ ๑๐-๑๑
    รถโดยสารประจำทาง นั่งรถประจำทางสายฉะเชิงเทรา-ลาดกระบัง ลงหน้าทางเข้าตลาด แล้วเดินต่อเข้าไปประมาณ ๒๐๐ เมตร


    อำเภอบางคล้า

      ศาลและอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

    สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ได้รับชัยชนะในการสู้รบกับพม่าบริเวณปากน้ำโจ้โล้ ทรงใช้เมืองฉะเชิงเทราเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านในการกอบกู้เอกราช หลังเหตุการณ์เสียกรุง เล่ากันว่าก่อนหน้านั้น สถานที่นี้เคยเป็นที่ตั้งของเจดีย์อนุสรณ์ชัยชนะของพระองค์คราวสู้รบกับพม่าในบริเวณนี้ ภายหลังเจดีย์ได้พังทลายลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ยังคงเล่าเรื่องราวสืบต่อกันมา และได้สร้างศาลพร้อมอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราชนี้ขึ้นใหม่ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๑


      วัดโพธิ์บางคล้า

    อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา ๒๓ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๓๑ ไร่ ชื่อว่า "วัดโพธิ์” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕ สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นศิลปะอยุธยากับรัตนโกสินทร์ พระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐฉาบปูน หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องเกล็ดเต่าทำจากดินเผา ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ บริเวณวัดจะเห็นค้างคาวแม่ไก่เกาะอยู่ตามต้นไม้ ค้างคาวแม่ไก่เป็นค้างคาวสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หน้าตาเหมือนสุนัขจิ้งจอกคือ มีดวงตาโต จมูกและใบหูเล็ก ขนสีน้ำตาลแกมแดง และมีเล็บที่แหลมคมสามารถเกาะกิ่งไม้ได้ มีปีกสีดำ บินได้เร็วและไกลเหมือนนก กางปีกกว้างประมาณ ๓ ฟุต แม่ค้างคาวให้กำเนิดลูกได้ครั้งละ ๑ ตัว ในเวลากลางวันจะอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่เกาะกิ่งไม้ห้อยหัวลงมา ยามพลบค่ำก็จะออกบินไปหากิน อาหารของค้างคาวจะเป็นพวกผลไม้และใบไม้อ่อนเช่น ใบโพธิ์ ใบมะม่วง ใบมะขาม เป็นต้น เคยมีผู้เฝ้าสังเกตการหากินของค้างคาวที่นี่พบว่าค้างคาวบินไปหากินตามเขตชายแดนไทยหรือฝั่งประเทศกัมพูชา หากล่องเรือชมทัศนียภาพตามลำน้ำบางปะกงจะผ่านวัดนี้ นักท่องเที่ยวสามารถแวะขึ้นชมวัดได้จากท่าน้ำของวัด
    การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ (สายฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) ประมาณ ๑๗ กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๑๒๑ เข้าตัวอำเภอบางคล้าไปประมาณ ๖ กิโลเมตร ผ่านศาลและอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้วเลี้ยวซ้ายประมาณ ๕๐๐ เมตร


      วัดแจ้ง

    ตั้งอยู่บริเวณตลาดบางคล้า มีพระอุโบสถที่งดงาม เป็นศิลปแบบไทยผสมจีน มีรูปปั้นยักษ์ข้างโบสถ์ ไม่ปรากฏว่าสร้างในปีใด ชาวบ้านเล่าต่อๆกันมาว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยกทัพไปตีเขมร พระองค์เดินทัพมาจนสว่างที่บริเวณนี้ จึงได้สร้างวัดแห่งนี้และขนานนามว่า " วัดแจ้ง ”


      อนุสรณ์สถานพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

    ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำโจ้โล้ (คลองท่าลาด) ตำบลปากน้ำ หลังจากที่พระเจ้าตากสินตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาได้เดินทัพผ่านจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรีและปะทะกับพม่าบริเวณปากน้ำโจ้โล้ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์รบชนะพม่าซึ่งมีกำลังเหนือกว่าและได้พักทัพบริเวณนี้ พระองค์จึงสร้างพระเจดีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในการสู้รบกับพม่า แต่บริเวณดังกล่าวถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนพระเจดีย์พังทลายเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๙๑ ต่อมามีการสร้างพระสถูปเจดีย์พระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นใหม่บริเวณเดิม นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาสักการะอนุสรณ์หรือนั่งพักผ่อนชมภูมิทัศน์ริมแม่น้ำซึ่งจะสามารถมองเห็นเกาะลัดอยู่ฝั่งตรงข้าม


      หมู่บ้านน้ำตาลสด

    ตั้งอยู่ที่บ้านปากน้ำ หมู่ที่ ๑๑ ถนนวนะภูติ ตำบลปากน้ำ เป็นแหล่งผลิตน้ำตาลสดพร้อมดื่มแห่งเดียวในภาคตะวันออก ชมขั้นตอนการผลิตน้ำตาลสดจากต้นตาลโตนด และสัมผัสวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ผลิตน้ำตาลสด ชมกระบวนการผลิตน้ำตาลสด เริ่มด้วยการปีนต้นตาลสูงระฟ้าเพื่อรองน้ำตาลยามเช้าและเย็น ต่อด้วยขบวนการต้มน้ำตาลสด ก่อนที่จะส่งไปขายทั่วประเทศ การทำน้ำตาลปึก และชิมน้ำตาลสดหอมหวาน ก่อนเดินทางกลับเลือกซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เป็นของฝากกลับบ้าน เช่น น้ำตาลสดพร้อมดื่ม น้ำตาลปึก หมวกกุ้ยเล้ย งวงตาลตัวผู้ที่ชาวบ้านเชื่อว่ารักษาโรคเบาหวานได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร. ๐ ๓๘๕๑ ๑๖๓๕ หรือ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หมู่บ้านน้ำตาลสด ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า ตั้งอยู่ริมถนนสายบางคล้า-คลองเขื่อน


      สวนมะม่วง   

    ฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่มีการปลูกมะม่วงมากที่สุดของประเทศ มีพื้นที่ประมาณ ๘๖,๐๐๐ ไร่ อำเภอที่ปลูกมากที่สุดคือ อำเภอบางคล้าและอำเภอแปลงยาว มะม่วงที่นิยมปลูกได้แก่ แรด เขียวเสวย น้ำดอกไม้ เจ้าคุณทิพย์ และทองดำ เป็นต้น มะม่วงจะเริ่มออกในเดือนมีนาคม ทางจังหวัดได้จัดงานมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้วเป็นประจำทุกปี สำหรับผู้ที่สนใจจะเที่ยวชมสวนมะม่วง ติดต่อที่สำนักงานเกษตรอำเภอบางคล้า โทร. ๐ ๓๘๕๔ ๑๐๐๓ หรือ คุณมานพ แก้ววงษ์นุกูล ประธานชมรมสวนมะม่วงฉะเชิงเทรา โทร.๐ ๓๘๕๘ ๓๗๓๔, ๐๘ ๙๙๓๘ ๙๐๙๗


    อำเภอพนมสารคาม

      ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ   

    ตั้งอยู่ตำบลเขาหินซ้อน ริมทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ กิโลเมตรที่ ๕๑-๕๒ อยู่ห่างจากอำเภอพนมสารคาม ๑๗ กิโลเมตร มีเนื้อที่กว้างใหญ่ประมาณ ๑,๘๙๕ ไร่ ศูนย์แห่งนี้ได้รับสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๒ เนื่องมาจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีสภาพเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื้อดินเป็นทราย มีการชะล้างพังทลายของดินสูง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพัฒนาพื้นที่ สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์บริเวณศูนย์ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาดิน การวางแผนการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ จนพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ด้วยวิธีการเกษตรแผนใหม่ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนมีโอกาสพึ่งพาตนเองได้ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตและเป็นศูนย์รวมการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ ถือเป็นต้นแบบแนวทางและตัวอย่างการพัฒนาให้แก่พื้นที่อื่น อีกทั้งอาศัยความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆและเอกชน ภายในศูนย์มีการแบ่งพื้นที่เพื่อทำการสาธิตและทดลองงานต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาที่ดิน การปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ งานศิลปาชีพและโครงการสวนป่าสมุนไพร มีแปลงทดลองปลูกพืชนานาชนิด อาทิ พันธุ์หวายที่มีในประเทศไทย อโวคาโด มะม่วงทุกพันธุ์ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ โดยจัดตั้งเป็น "สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก” เพื่อดูแลงานวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของพืชสมุนไพรต่างๆ ภายในอาคารจัดเป็นนิทรรศการบรรยายและสาธิตการผลิตสมุนไพรต่าง ๆ มีห้องอบสมุนไพรซึ่งเปิดบริการทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น. (๓๐ บาทต่อคน) ศูนย์แห่งนี้ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประจำปี ๒๕๔๕ รางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประจำปี ๒๕๔๗ รางวัลยอดเยี่ยมประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

    ผู้ที่สนใจจะเข้าชมศูนย์เป็นหมู่คณะและต้องการเจ้าหน้าที่นำชม ใช้เวลาชมประมาณ ๒ ชั่วโมง ทำจดหมายติดต่อล่วงหน้า เรียน ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากนั้นศูนย์ฯยังมีบริการที่พัก (ห้องพัดลม ๑๐๐ บาทต่อคน ห้องแอร์ ๖๐๐ บาทต่อคืน (นอน ๓ คน) สอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ในเวลาราชการ ๐๘.๐๐–๑๗.๐๐ น. โทร. ๐ ๓๘๕๙ ๙๑๐๕-๖


      เขาหินซ้อน   

    ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ (ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) กิโลเมตรที่ ๕๓ อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา ๕๓ กิโลเมตร เป็นภูเขาที่มีความสูงไม่มากนัก ประกอบด้วยก้อนหินขนาดใหญ่น้อยรูปทรงต่างๆ เรียงรายอยู่ตามธรรมชาติ บริเวณเขาหินซ้อนจัดเป็น "สวนรุกขชาติสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ” และเป็นที่ตั้งของศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ด้านหลังของศาลเป็นที่ตั้งของวัดเขาหินซ้อน


    อำเภอสนามชัยเขต

      วนเกษตร (ศูนย์ศึกษาพัฒนาการสังคมหมู่บ้าน) หรือ บ้านศานติธรรม  

    ตั้งอยู่ตำบลลาดกระทิง ภายในอาณาบริเวณเกือบ ๑๐ ไร่ มีพันธุ์ไม้กว่า ๗๐๐–๘๐๐ ชนิด เป็นสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ ภายในมีเรือนไม้แบบไทย มุงด้วยกระเบื้องว่าว ใต้ถุนสูงสำหรับประชุมหรือบรรยาย ชั้นบนใช้เก็บและแสดงเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านวัตถุโบราณ ของใช้รุ่นเก่าต่างๆ ด้านหลังบ้านมียุ้งข้าวจำลองและอุปกรณ์นวดข้าว สีข้าว บริเวณบ้านส่วนหนึ่งจัดไว้เป็นที่สำหรับตั้งค่ายพักแรมสำหรับเยาวชน มีลานสันทนาการ และบริเวณทำกิจกรรม เหมาะสำหรับผู้สนใจศึกษาวิถีชีวิตการพึ่งพาตนเองแบบธรรมชาติ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม โทร. ๐ ๓๘๕๙ ๗๔๔๑, ๐ ๓๘๕๙ ๗๗๑๕ การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๒๔๕ (พนมสารคาม-สนามชัยเขต) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒๕๙ (สนามชัยเขต-ท่าตะเกียบ)ประมาณ ๓ กิโลเมตร


       วัดพระธาตุวาโย (วัดห้วยน้ำทรัพย์)  

    ตั้งอยู่หมู่ ๒ ตำบลลาดกระทิง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๒๕๙ (สายสนามชัยเขต–ท่าตะเกียบ) ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๙ กิโลเมตร ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น

    หลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางประทานพร หน้าตักกว้าง ๑๗ เมตร สูง ๑๙ เมตร ฐานสูง ๕ เมตร พระมหาธาตุเจดีย์ เจดีย์ทรงระฆังประดับด้วยกระจกสีเหลือง น้ำเงิน ขาว สูง ๕๐ เมตร ฐานรอบเจดีย์กว้าง ๔๕ เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภายในองค์เจดีย์มีพระพุทธรูปจำนวนมากและภาพเขียนสีน้ำมันแสดงเรื่องราวในพุทธประวัติ มีบันไดขึ้นไปด้านบนได้หลายชั้น ชั้นบนสุดจะมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบและอ่างเก็บน้ำลาดกระทิงซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมี อนุสาวรีย์ท่านพ่อขุน อนุสาวรีย์สมเด็จพ่อแสนคำฟ้าและวิหารพระนอน สภาพโดยรอบวัดคงความเป็นธรรมชาติเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เปิดระหว่างเวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น.


    อำเภอท่าตะเกียบ

       สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ากระบกคู่   

    ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๗๕ กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๒๓ ช่วงกิโลเมตรที่ ๕๙–๖๐ ต้องข้ามฝั่งแม่น้ำแควน้อย สามารถเช่าเหมาเรือจากท่าเรือปากแซงข้ามไป ในราคาประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐ บาท นั่งได้ ๑๐-๑๒ คน ใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที ถ้ำละว้าเป็นถ้ำที่สวยงามมาก ค้นพบโดยนายผิน ดอกเข็ม เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๖ บริเวณปากถ้ำไม่กว้างนัก แต่ภายในถ้ำกว้างขวางใหญ่โตมาก แบ่งเป็นห้องต่างๆเช่น ห้องท้องพระโรง ห้องดนตรี ห้องม่าน ห้องพระปรางค์ แต่ละห้องมีความงดงามของหินย้อยแตกต่างกันออกไป บ้างเหมือนม่านโรงละคร บ้างมีประกายระยิบระยับราวกับโรยด้วยกากเพชร


      ช่องเขาขาดพิพิธภัณฑสถานแห่งความทรงจำ   

    ตั้งอยู่บนเส้นทางสาย ๓๒๕๙ (พนมสารคาม-ท่าตะเกียบ) กิโลเมตรที่ ๒๙-๒๐ ก่อนถึงอำเภอท่าตะเกียบ ประมาณ ๓ กิโลเมตร เป็นสถานที่วิจัยเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่หายากใกล้จะสูญพันธุ์ เปิดเป็นสถานที่ศึกษาวิจัยแก่นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจ ภายในสถานีมีลิง ชะนี ค่าง หมี นกยูง นกเป็ดก่า ฯลฯ หากจะเข้าชมเป็นหมู่คณะควรจะติดต่อล่วงหน้า หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ากระบกคู่ โทร. ๐๘ ๙๕๘๙ ๙๑๖๗


      เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน

    เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ครอบคลุมพื้นที่ ๖๔๓,๗๕๐ ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางของพื้นที่ป่าผืนใหญ่รอยต่อ ๕ จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและสระแก้ว เป็นป่าลุ่มต่ำที่ไม่ผลัดใบที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานครมากที่สุด ป่าดงดิบส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบแล้ง มีเพียงเล็กน้อยที่เป็นป่าดงดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังและทุ่งหญ้า เป็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกงทางด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา คลองตะโหนดจังหวัดจันทบุรีและแม่น้ำประแสร์ในจังหวัดระยอง สภาพภูมิประเทศทั่วไปมีความลาดชันไม่มากนัก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๓๐-๘๐๒ เมตร ยอดเขาสูงสุดอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขตรักษาพันธุ์ฯ คือ เขาสิบห้าชั้น มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๘๐๒ เมตร

    พื้นที่ป่าปกคลุมเป็นบริเวณกว้างใหญ่ มีสัตว์ป่านานาชนิด เช่น ช้าง กระทิง กวาง เก้ง วัวแดง ชะนีมงกุฎ เม่น และนกพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่มากมาย เช่น ไก่ฟ้าพญาลอ นกกก นกแต้วแล้วธรรมดา นกเขาใหญ่ เหยี่ยวขาว เป็นต้น และในพื้นที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์ฯยังเป็นที่ตั้งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าแห่งแรกของภาคตะวันออกและเป็นแหล่งที่สองของประเทศไทย รองจากสถานีวิจัยสัตว์ป่านางรำที่ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี บริเวณหุบเขาร่มรื่นและเย็น ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม สามารถชมผีเสื้อได้ เช่น ผีเสื้อสะพายฟ้า ผีเสื้อหางกระดิ่งแววมยุรา ผีเสื้อเจ้าป่า เป็นต้น

    นอกจากนั้นยังมี น้ำตกอ่างฤาไน หรือ น้ำตกบ่อทอง อยู่ที่หน่วยพิทักษ์ป่าน้ำตกบ่อทอง เกิดจากคลองหมากบนเขาอ่างฤาไน เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลตลอดปี ห่างจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนประมาณ ๔๐ กิโลเมตร มีทางเข้าจากบริเวณบ้านหนองคอก เส้นทางต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ ตัวน้ำตกอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าน้ำตกบ่อทองประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติอย่างแท้จริง และ น้ำตกเขาตะกรุบ ขึ้นอยู่กับหน่วยพิทักษ์ป่าเขาตะกรุบ เลยจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนประมาณ ๓๐ กิโลเมตร

    ค่าเข้าเขตรักษาพันธุ์ฯชาวไทย ผู้ใหญ่ ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ ๒๐๐ บาท เด็ก ๑๐๐ บาท มีบริการบ้านพักและสามารถกางเต็นท์ได้ (ต้องนำมาเอง) การเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควรปฏิบัติตามกฏระเบียบอย่างเคร่งครัด ผู้ที่มีความประสงค์จะเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะต้องทำจดหมายขออนุญาตล่วงหน้าอย่างน้อย ๑๕ วัน เรียน ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๒๕๖๑ ๔๒๙๒ ต่อ ๖๕๘, ๖๕๙ หรือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน โทร. ๐ ๓๘๕๐ ๒๐๐๑
    การเดินทาง จากกรุงเทพฯใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมง
    รถยนต์ จากตัวเมืองฉะเชิงเทราใช้เส้นทางสายฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม จากอำเภอพนมสารคามไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๒๔๕ (พนมสารคาม-สนามชัยเขต) จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข ๓๒๕๙ ผ่านอำเภอท่าตะเกียบสู่บ้านหนองคอก ระยะทางประมาณ ๕๐ กิโลเมตร แล้วไปตามเส้นทางบ้านหนองคอก-กิ่งอำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว อีกประมาณ ๒๐ กิโลเมตร จะถึงสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนและสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทราซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน
    รถโดยสารประจำทาง นั่งรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ-พนมสารคาม แล้วต่อรถโดยสารประจำทางสายฉะเชิงเทรา-คลองหาด ลงหน้าสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน

     

2 กุมภาพันธ์ 2562 | จำนวนเข้าชม 4963 ครั้ง